อะเฟเซีย (aphasia) ความผิดปกติในการสื่อสาร
อะเฟเซีย (aphasia) ความผิดปกติในการสื่อสาร

อะเฟเซีย (Aphasia) หรือภาวะเสียการสื่อความ คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความผิดปกติในการสื่อสาร ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน ภาวะอะเฟเซียมีความจำเป็นต้องหาสาเหตุตั้งต้น การรักษาจะแตกต่างกันตามสาเหตุ และโอกาสหายก็จะแปรตามสาเหตุเช่นกัน

 

 

สาเหตุของภาวะอะเฟเซีย

 

ภาวะอะเฟเซียเกิดจากการที่สมองส่วนที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย การลำเลียงเลือดเข้าสู่บริเวณนั้นผิดปกติ ส่งผลให้สมองตายได้ สามารถเกิดได้ 2 กรณี คือเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และเกิดขึ้นแบบชั่วคราว

 

ภาวะอะเฟเซียที่เกิดขึ้นแบบชั่วคราว เกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

      

  • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

      

  • อาการของโรคไมเกรน

      

  • อาการชัก

 

ภาวะอะเฟเซียที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

      

  • ภาวะสมองขาดเลือด

      

  • ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก

      

นอกจากนี้การติดเชื้อในสมอง การเป็นโรคทางระบบประสาท  ภาวะเสื่อมของสมองโรค เช่น สมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ รวมทั้งการเกิดขึ้นของเนื้องอกในสมอง สามารถทำให้เกิดอาการของภาวะอะเฟเซีย ได้อย่างช้าๆ

 

 

ประเภทของภาวะอะเฟเซีย

 

ปัญหาในการรับรู้ และเข้าใจในภาษา (Wernicke’s Aphasia)

      

  • เกิดจากส่วนกลางของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยมักจะไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด สามารถพูดได้ แต่จะพูดไม่รู้เรื่อง ใช้ประโยคซับซ้อน และคำที่ฟุ่มเฟือย อีกทั้งยังไม่สามารถรับรู้ว่าได้ตนเองมีปัญหาด้านการสื่อสาร

 

ปัญหาการแสดงออกทางภาษา แต่มีความเข้าใจในภาษาที่ปกติ (Broca’s Aphasia)

      

  • เกิดจากสมองซีกซ้ายบริเวณส่วนหน้าได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยสามารถฟังจับใจความจากผู้พูดได้เล็กน้อย และพูดสื่อสารกลับได้เพียงประโยคสั้นๆ หรือสื่อสารไม่ได้เลย

 

ปัญหาการนึกคำพูด (Nominal Aphasia)

      

  • เกิดจากสมองกลีบข้าง หรือบริเวณขมับ ผู้ป่วยไม่สามารถพูดตามได้ ใช้เวลาในการคิดคำศัพท์ที่จะพูดได้ยากลำบาก

 

ปัญหาทั้งการแสดงออกทางภาษา และความเข้าใจในภาษา (Global Aphasia)

      

  • เกิดจากสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหายทั้งบริเวณส่วนหน้า และส่วนกลาง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการสื่อสารทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน

 

 

อาการของภาวะอะเฟเซีย

      

  • ฟังคำพูด ของผู้สนทนาไม่เข้าใจ

      

  • นึกคำพูดได้อย่างลำบาก

      

  • ตอบไม่ตรงคำถาม

      

  • ไม่สามารถบอกสิ่งที่ต้องการได้ แม้กระทั่งภาษากาย

      

  • ไม่สามารถจำชื่อของบุคคลใกล้ชิด หรือชื่อของสิ่งของ สถานที่ได้

      

  • พูดเลียนแบบตามไม่ได้

      

  • ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้

      

  • พูดไม่ชัด หรือพูดประโยคที่ผิดไวยากรณ์

      

  • ขณะพูดมีความปกติบริเวณอวัยวะที่มีการเคลื่นไหวในการสื่อสาร เช่น ปาก ลิ้น และขากรรไกร

 

 

การรักษาภาวะอะเฟเซีย

 

โดยแพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก หากเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยา และการผ่าตัด  รวมทั้งใช้วิธีรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูบำบัดด้านการพูด การใช้ภาษา และเสริมทักษะการสื่อสาร โดยการบำบัดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การรวมกลุ่มในการบำบัด หรือการบำบัดจากสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้ยังมีการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องช่วยการสื่อสารด้วยเสียง (VOCA) มาใช้ในการบำบัด  โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยฝึกทบทวนการใช้คำ และการใช้ประโยคที่ถูกต้อง   การใช้ท่าทาง หรือการวาดพร้อมประกอบในการบำบัด รวมทั้งการถาม ตอบ ตามบทสนทนาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละบุคคล

 

 

อะเฟเซีย

 

 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะอะเฟเซีย

 

เนื่องจากผู้ป่วยมีความผิดปกติในด้านการสื่อสาร ส่งผลกระทบทั้งด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มีปัญหาในการทำงาน ทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวล น้อยใจ ที่ตนเองพูดไม่รู้เรื่อง กลายเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ แปลกแยก อยู่คนเดียว จนสามารถเกิดภาวะซึมเศร้าได้

 

 

การป้องกันภาวะอะเฟเซีย

 

ควรป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อสมอง หรือป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับสมอง ได้แก่

      

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง และไขมันสูง

      

  • ควบคุมปริมาณไขมัน และโซเดียมในร่างกาย

      

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

      

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

      

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

      

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และมีความผิดปกติในระบบไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

      

  • หากมีอาการของภาวะหัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการของโรคหลอดเลือดในสมองแตก ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน

 

 

จากกรณีตัวอย่างของ บรูซ วิลลิส นักแสดงระดับฮอลลีวูด ที่ประสบกับอาการป่วยของภาวะอะเฟเซีย จะเห็นได้ถึงผลกระทบที่รุนแรงของโรคนี้ ทำให้ถึงขั้นเสียหน้าที่การงานที่ดีไป ดังนั้นหากสังเกตพบว่าตนเอง หรือบุคคลรอบข้าง มีอาการการพูดคุยที่ผิดปกติ เช่น นึกคำไม่ออก หรือพูดไม่ชัด ไม่สามารถพูดคำที่ชัดถ้อยชัดคำให้เป็นประโยคได้  หรือพูดไปเรื่อย รวมทั้งการฟังไม่ที่เข้าใจ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยแก้ไขอาการสื่อสารที่ผิดปกติได้

 

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

 

 

โปรแกรมตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง

 

 

ตรวจหาความผิดปกติโรคทางสมอง ด้วยการตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI